ภาษีโรงเรือนและที่ดิน
ภาษีโรงเรือนและที่ดิน
หมายถึง ภาษีที่จัดเก็บจากโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ กับที่ดินที่ใช้ประโยชน์ต่อเนื่องกับโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้าง
ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ได้แก่ โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้าง และที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างนั้น และในปีที่ผ่านมาได้มีการใช้ประโยชน์ทรัพย์สินนั้น เช่น ให้เช่า ใช้เป็นที่ทำการค้าขาย ที่ไว้สินค้า ที่ประกอบอุตสาหกรรม ให้ญาติ บิดา มารดา บุตร หรือผู้อื่นอยู่อาศัยหรือใช้ประกอบกิจการอื่น ๆ เพื่อหารายได้และไม่เข้าข้อยกเว้นตามกฎหมาย
ทรัพย์สินที่ได้รับการยกเว้นภาษีไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ได้แก่
1. พระราชวังอันเป็นส่วนของแผ่นดิน
2. ทรัพย์สินของรัฐบาลที่ใช้ในกิจการของรัฐบาลหรือ
สาธารณะและทรัพย์สินการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ใช้ในกิจการของการรถไฟโดยตรง
3. ทรัพย์สินของโรงพยาบาลสาธารณะ และโรงเรียน
สาธารณะซึ่งกระทำกิจการที่ใม่ใช่เพื่อเป็นผลกำไรส่วนบุคคล และใช้ในการรักษาพยาบาลและในการศึกษา
4. ทรัพย์สินซึ่งเป็นศาสนสมบัติอันใช้เฉพาะในศาสนกิจอย่าง
เดียวหรือเป็นที่อยู่ของสงฆ์
5. โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ ซึ่งปิดไว้ตลอดปี และ
เจ้าของไม่ได้อยู่เอง หรือให้ผู้อื่นอยู่ นอกจากคนเฝ้าในโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ หรือในที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกัน
6. โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างของการเคหะแห่งชาติซึ่งผู้เช่าซื้อ
อยู่อาศัยเอง และมิได้เป็นที่เก็บสินค้าหรือประกอบอุตสาหกรรม หรือประกอบกิจการอื่นเพื่อหารายได้
7. โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ ซึ่งเจ้าของอยู่เอง
หรือให้ผู้เฝ้ารักษาและซึ่งมิได้ใช้เป็นที่ไว้สินค้า หรือประกอบการอุตสาหกรรม
การลดค่าภาษีหรือปลดภาษี
1. เมื่อปรากฏว่าผู้รับประเมินได้เสียเพราะทรัพย์สินว่างลง
หรือชำรุดต้องซ่อมแซมส่วนสำคัญ
2. ผู้รับประเมินยื่นคำร้อง
3. ลดค่าภาษีลงตามส่วนที่เสียหาย หรือปลดค่าภาษีทั้งหมด
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน
1. เจ้าของทรัพย์สิน
2. เจ้าของโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้าง และเจ้าของที่ดินเป็น
คนละเจ้าของ เจ้าของโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีสำหรับทรัพย์สินนั้นทั้งหมด
ระยะเวลายื่นแบบแสดงรายการทรัพย์สินเพื่อเสียภาษี
เจ้าของทรัพย์สินต้องยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภรด.2) ณ สำนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้นตั้งอยู่ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี
ค่าภาษี
1. ผู้รับประเมินชำระภาษีปีละครั้งตามค่ารายปี
2. อัตราร้อยละ 12.5 ของค่ารายปี
ค่ารายปี
ค่ารายปี หมายถึง จำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ กรณีให้เช่าให้ถือค่าเช่าคือค่ารายปีกรณีมีเหตุ
- ค่าเช่ามิใช่จำนวนอันสมควร
- หากค่าเช่าไม่ได้ เนื่องจากดำเนินกิจการเองด้วยเหตุ
ประการอื่น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจประเมินค่ารายปีตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีว่าด้วยกระทรวงมหาดไทยกำหนด
หลักฐานที่ใช้ประกอบการเสียภาษี
1. กรณีเป็นการเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินรายใหม่ เช่น
1) สำเนาทะเบียนบ้าน/บัตรประจำตัวประชาชนของผู้มี
หน้าที่เสียภาษี
2) สำเนาโฉนดที่ดิน/สัญญาซื้อขายโรงเรือน
3) สัญญาเช่าโรงงาน/สัญญาเช่าที่ดิน
4) ทะเบียนพาณิชย์/ทะเบียนการค้า/ทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
5) ใบอนุญาตปลูกอาคาร
6) หนังสือรับรองห้างหุ้นส่วน/บริษัท-งบดุล
7) ใบอนุญาตตั้งหรือประกอบกิจการโรงงาน
8) ใบอนุญาตสะสมอาหารหรือใบอนุญาตประกอบกิจการค้า
9) หลักฐานอื่น ๆ ที่แสดงการเริ่มใช้ประโยชน์ของทรัพย์สิน
10) แผนที่ตั้งของที่ดินและโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างที่เสียภาษี
11) หนังสือมอบอำนาจ (กรณีผู้อื่นมายื่นแบบ ภรด.2 แทน)
12) ในกรณีที่โรงเรือนมีผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมลงลายมือชื่อ
ภรด.2 ในฐานะผู้รับประเมินทุกคน หรือจะมอบอำนาจให้คนใดคนหนึ่งก็ได้ การมอบต้องทำเป็นหนังสือและปิดแสตมป์กฎหมาย
2. กรณีเป็นผู้เสียภาษีรายเก่าที่เคยเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินมาแล้ว
ขั้นตอนในการชำระภาษี
1) ผู้มีหน้าที่เสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ยื่นแบบแสดงรายการ
ทรัพย์สินเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินพร้อมด้วยหลักฐาน ณ สำนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่
2) พนักงานเจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบความสมบูรณ์ขอ
แบบแสดงรายการภาษีโรงเรือนและที่ดิน
3) พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินค่ารายปีและค่าภาษีที่จะต้องเสีย
4) พนักงานเก็บภาษีแจ้งประเมิน (ภรด.8) ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษี
ทราบว่าจะต้องเสียภาษีเป็นจำนวนเงินเท่าใด
5) ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเมื่อได้รับแจ้งการประเมินแล้วจะต้องนำ
เงินค่าภาษีไปชำระภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน มิฉะนั้นจะต้องเสียเงินเพิ่ม
เงินเพิ่ม
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีโรงเรือนและที่ดินเมื่อได้รับแจ้งการประเมินแล้วจะต้องนำเงินค่าภาษีไปชำระภายใน 30 วันนับถัดจากวันที่ได้รับแจ้งประเมิน มิฉะนั้นจะต้องเสียเงินเพิ่ม ดังนี้
1. ถ้าชำระไม่เกิน 1 เดือน นับแต่วันพ้นกำหนดให้เสียเพิ่มร้อยละ
2.5 ของภาษีที่ค้าง
2. ถ้าเกิน 1 เดือน แต่ไม่เกิน 2 เดือน ให้เพิ่มร้อยละ 5 ของค่า
ภาษีที่ค้าง
3. ถ้าเกิน 2 เดือน แต่ไม่เกิน 3 เดือน ให้เพิ่มร้อยละ 7.5 ของค่า
ภาษีที่ค้าง
4. ถ้าเกิน 3 เดือน แต่ไม่เกิน 4 เดือน ให้เพิ่มร้อยละ 10 ของค่า
ภาษีที่ค้าง
การยึดอายัดทรัพย์สินของผู้ซึ่งค้างชำระภาษี
ถ้าไม่มีการชำระค่าภาษีและเงินเพิ่มภายใน 4 เดือน ให้ผู้บริหารท้องถิ่นมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ยึดหรือขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ซึ่งค้างชำระภาษี เพื่อนำเงินเป็นค่าภาษี เงินเพิ่ม ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายโดยต้องให้ศาลสั่งหรือออกหมายยึด
วิธีการยึด อายัด หรือขายทอดตลาดทรัพย์สินให้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวีพิจารณาความแพ่งโดยอนุโลม
บทกำหนดโทษ
1. ผู้ใดละเลยไม่แสดงข้อความในแบบพิมพ์ เพื่อแจ้งรายการ
ทรัพย์สินตามความเป็นจริง ตามความรู้เห็นของตนให้ครบถ้วน และรับรองความถูกต้องของข้อความดังกล่าวพร้อมทั้งลงวันที่ เดือน ปี และลงลายมือชื่อของตนกำกับไว้ เว้นแต่เป็นเหตุสุดวิสัยต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท
2. ผู้ใดละเลยไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกของพนักงานเจ้าหน้าที่ ไม่
แจ้งรายการเพิ่มเติมรายละเอียดยิ่งขึ้นเมื่อเรียกร้อง ไม่นำพยานหลักฐานมาแสดงหรือไม่ตอบคำถามเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ซักถาม ผู้รับประเมินในเรื่องใบแจ้งรายการ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท
3. ผู้ใดยื่นข้อความเท็จ หรือตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ
หรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดงเพื่อหลีกเลี่ยงการคำนวณค่ารายปีแห่งทรัพย์สินของตนตามที่ควรก็ดี หรือโดยความเท็จโดยเจตนาละเลย โดยฉ้อโกงโดยอุบาย โดยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดทั้งสิ้นของตนตามที่ควรก็ดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

พิมพ์โดย : นางสาวคำจันทร์ อินทร์โสภา
เจ้าพนักงานจัดเก็บรายได้
ภาษีโรงเรือนและที่ดิน

ส่วนการคลังองค์การบริหารส่วนตำบลกมลาไสย
งานพัฒนารายได้
โทร. / Fax.0-4383-1411 ต่อ 14
ภาษีป้าย
1. ป้ายที่ต้องเสียภาษี
1.1 ป้ายที่ต้องเสียภาษีป้าย ได้แก่ ป้ายแสดงชื่อ ยี่ห้อ หรือ
เครื่องหมายที่ใช้ในการประกอบการค้า หรือประกอบกิจการอื่นเพื่อหารายได้ ไม่ว่าจะแสดงหรือโฆษณาไว้ที่วัตถุใด ๆ ด้วยอักษร ภาย หรือเครื่องหมายที่เขียน แกะ สลัก จารึก หรือทำให้ปรากฏด้วยวิธีใด ๆ
1.2 ไม่เป็นป้ายที่ได้รับการยกเว้นภาษีป้าย
2. ป้ายที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีป้าย ได้แก่
ป้ายที่แสดงไว้ ณ โรงมหรสพและบริเวณของโรงมหรสพ
นั้นเพื่อโฆษณามหรสพ
2.2 ป้ายที่แสดงไว้ที่สินค้า หรือสิ่งห่อหุ้มหรือบรรจุสินค้า
2.3 ป้ายที่แสดงไว้ในบริเวณงานที่จัดขึ้นเป็นครั้งคราว
2.4 ป้ายที่แสดงไว้ที่คนหรือสัตว์
2.5 ป้ายที่แสดงไว้ภายในอาคารที่ใช้ประกอบการค้า หรือประกอบ
กิจการอื่นหรือภายในอาคารซึ่งเป็นที่รโหฐาน ทั้งนี้เพื่อหารายได้ และแต่ละป้ายมีพื้นที่ไม่เกินที่กำหนดในกฎกระทรวง(ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2542) กำหนดว่าต้องเป็นป้ายที่มีพื้นที่ไม่เกินสามตารางเมตร มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2542 แต่ไม่รวมถึงป้ายตามกฎหมายว่าด้วยการพาณิชย์
2.6 ป้ายของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาคหรือราชการ
ส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
2.7 ป้ายขององค์การที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กร
ของรัฐบาล หรือตามกฏหมายว่าด้วยการนั้น ๆ และหน่วยงานที่นำรายได้ส่งรัฐ
2.8 ป้ายของธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ และบริษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
2.9 ป้ายของโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนหรือ
สถาบันอุดมศึกษาเอกชนนั้น
2.10 ป้ายของผู้ประกอบการเกษตร ซึ่งค้าผลผลิตอันเกิดจากการเกษตร
ของตน
2.11 ป้ายของวัดหรือผู้ดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์แก่การศาสนา
หรือการกุศลสาธารณะโดยเฉพาะ
2.12 ป้ายของสมาคมหรือมูลนิธิ
2.13 ป้ายที่กำหนดในกฎกระทรวง
กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 พ.ศ.2535 ออกตามความในพระราช
บัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 กำหนดป้ายที่ได้รับการยกเว้นภาษีป้าย คือ
(1) ป้ายที่แสดงหรือติดตั้งไว้ที่รถยนต์ส่วนบุคคล รถจักรยานยนต์ รถบดถนนหรือรถแทรกเตอร์
(2) ป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่ล้อเลื่อน
(3) ป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่ยานพาหนะนอกเหนือจาก (1) และ (2) โดยมีพื้นที่ไม่เกินห้าร้อยตารางเซนติเมตร
3 ผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้าย ได้แก่
เจ้าของป้าย
ในกรณีไม่มีผู้อื่นยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย หรือเมื่อ
พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่อาจหาตัวเจ้าของป้ายนั้นได้ ให้ถือว่าผู้ครอบครองป้ายนั้นเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้าย ถ้าไม่อาจหาตัวผู้ครอบครองป้ายนั้นได้ให้ถือว่าเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร หรือที่ดินที่ป้ายนั้นติดตั้งหรือแสดงอยู่เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้ายตามลำดับ
4. ระยะเวลาการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีป้าย
4.1 เจ้าของป้ายที่มีหน้าที่เสียภาษีป้ายต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย (ภป.1) ภายในเดือนมีนาคมของทุกปี
4.2 ในกรณีที่ติดตั้งหรือแสดงป้ายภายหลังเดือนมีนาคม หรือติดตั้งหรือแสดงป้ายใหม่แทนป้ายเดิม หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขป้ายอันเป็นเหตุให้ต้องเสียภาษีป้ายเพิ่มขึ้น ให้เจ้าของป้ายยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายภายใน 15 วัน นับแต่วันติดตั้งหรือแสดงป้าย หรือนับแต่วันเปลี่ยนแปลงแก้ไขแล้วแต่กรณี
5. การคำนวณพื้นที่ป้าย อัตราค่าภาษีป้ายและการคำนวณภาษีป้าย
5.1 การคำนวณพื้นที่ป้าย
5.1.1 ป้ายที่มีขอบเขตกำหนดได้
ส่วนที่กว้างที่สุด X ส่วนที่ยาวที่สุดของขอบเขตป้าย
5.1.2 ป้ายที่ไม่มีขอบเขตกำหนดได้
ถือตัวอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายที่อยู่ริมสุดเป็นขอบเขตเพื่อกำหนด ส่วนที่กว้างที่สุด ยาวที่สุดแล้วคำนวณตาม 5.1.1
5.1.3 คำนวณพื้นที่เป็นตารางเซนติเมตร
5.2 อัตราภาษีป้าย แบ่งเป็น 3 อัตรา ดังนี้
1) อักษรไทยล้วน ให้คิดอัตรา 3 บาทต่อห้าร้อยตารางเซนติเมตร
2) อักษรไทยปนกับอักษรต่างประเทศ ภาพ เครื่องหมายอื่น ให้คิดอัตรา 20 บาทต่อห้าร้อยตารางเซนติเมตร
3) ป้ายดังต่อไปนี้ ให้คิดอัตรา 40 บาทต่อห้าร้อยตารางเซนติเมตร
ก. ป้ายที่ไม่มีอักษรไทย ไม่ว่าจะมีภาพหรือเครื่องหมายใดหรือไม่
ข. อักษรไทยบางส่วนหรือทั้งหมดอยู่ใต้ หรือต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ
4) ป้ายที่เปลี่ยนแปลงแก้ไขพื้นที่ป้าย ข้อความภาพ หรือเครื่องหมายบางส่วนในป้ายได้เสียภาษีแล้วเป็นเหตุให้ต้องเสียภาษีป้ายเพิ่มขึ้น ให้คิดอัตราตาม (1) (2) และ(3) แล้วแต่กรณี และให้เสียภาษีเฉพาะเงินภาษีที่เพิ่มขึ้น
5) ป้ายใดเสียต่ำกว่า 200 บาท ให้เสีย 200 บาท
6. หลักฐานที่ใช้ประกอบการเสียภาษีป้าย
เพื่อความสะดวกในการเสียภาษีให้ผู้มีหน้าที่ชำระภาษีนำหลักฐานประกอบการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีป้าย (ภป.1) เท่าที่จำเป็น ดังนี้
6.1 กรณีป้ายที่ติดตั้งใหม่ ผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้ายที่ติดตั้งใหม่ ได้แก่
1) บัตรประจำตัวประชาชน
2) สำเนาทะเบียนบ้าน
3) ทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
4) หนังสือรับรองหุ้นส่วนบริษัท
5) ใบอนุญาตติดตั้งป้ายหรือใบเสร็จรับเงินจากร้านทำป้าย
6.2 กรณีป้ายรายเก่า ผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้ายที่เคยยื่นแบบแสดงรายการ
เพื่อเสียภาษีป้ายไว้แล้ว ควรนำใบเสร็จรับเงินค่าภาษีป้ายครั้งก่อนมาแสดงด้วย
7. ขั้นตอนการชำระภาษี
7.1 ผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีป้ายยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย (ภป.1) พร้อมด้วยหลักฐาน
7.2 พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการเป็น 2 กรณี ดังนี้
1) กรณีผู้เสียภาษีประสงค์จะชำระภาษีในวันที่ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีป้าย เจ้าหน้าที่ตรวจสอบและประเมินภาษีป้ายได้ทันที ให้แจ้งผู้เสียภาษีป้ายว่าจะต้องเสียภาษีเป็นจำนวนเท่าใด
2) กรณีผู้เสียภาษีป้ายไม่พร้อมจะชำระภาษีในวันยื่นแบบแสดง
รายการเสียภาษีป้าย พนักงานแจ้งหนังสือประเมิน (ภป.3) แจ้งจำนวนเงินภาษีที่จะต้องชำระแก่ผู้เสียภาษี
7.3 ผู้เสียภาษีต้องมาชำระเงินค่าภาษีป้าย ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่
ได้รับแจ้งการประเมิน มิฉะนั้นจะมีเงินเพิ่ม
7.4 การชำระภาษีป้าย
เจ้าของป้ายมีหน้าที่ชำระภาษีป้ายเป็นรายปี ยกเว้นป้ายที่แสดงปีแรก
(1) ระยะเวลาภายใน 15 วันนับถัดจากวันที่ได้รับแจ้งการประเมิน
(2) สถานที่ชำระภาษี
- สถานที่ที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายไว้
- หรือสถานที่อื่นที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด
(3) การชำระภาษีวิธีอื่น
- ธนาณัติ หรือตั๋วแลกเงินของธนาคารสั่งจ่ายส่วนท้องถิ่น
- ส่งโดยไปรษณีย์ลงทะเบียน
- ส่งไปยังสถานที่ตาม (2)
(4) การผ่อนชำระหนี้
1. ภาษีป้าย 3,000 บาทขึ้นไป
2. ผ่อนชำระเป็น 3 งวด เท่า ๆ กัน
3. แจ้งความจำนงเป็นหนังสือก่อนครบกำหนดชำระหนี้
8. เงินเพิ่ม
8.1 ไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายภายในเวลาที่กำหนด ให้เสียเงินเพิ่มร้อยละสอบของค่าภาษีป้าย เว้นแต่กรณีที่เจ้าของป้ายได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายก่อนที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะได้แจ้งให้ทราบถึงการละเว้นนั้นให้เสียเงินเพิ่มร้อยละห้าของค่าภาษีป้าย
8.2 ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายโดยไม่ถูกต้องทำให้จำนวนเงินที่จะต้องเสียภาษีป้ายลดน้อยลงให้เสียเงินเพิ่มร้อยละสิบของค่าภาษีป้ายที่ประเมินเพิ่มเติม
8.3 ไม่ชำระภาษีป้ายภายในเวลาที่กำหนดให้เสียเงินเพิ่มร้อยละสองต่อเดือนของค่าภาษีป้าย เศษของเดือนให้นับเป็นหนึ่งเดือน ทั้งนี้ไม่ให้นำเงินเพิ่มตาม 8.1 และ 8.2 มาคำนวณเป็นเงินเพิ่มตามข้อนี้ด้วย
9. บทกำหนดโทษ
9.1 ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ให้ถ้อยคำเท็จ หรือตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ หรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดงเพื่อหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีป้าย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ ตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 50,000 บาท
9.2 ผู้ใดไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายต้องระวางโทษปรับตั้งแต่
5,000 บาท ถึง 50,000 บาท
9.3 ผู้ใดไม่แจ้งการรับโอนป้ายหรือไม่แสดงรายการเพื่อเสียภาษีป้ายไว้ ณ ที่เปิดเผยในสถานประกอบการ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 1,000 บาท ถึง 10,000 บาท
9.4 ผู้ใดขัดขวางการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งสั่งให้มาให้ถ้อยคำหรือให้ส่งบัญชี หรือเอกสารเกี่ยวกับกับป้ายมาตรวจสอบภายในกำหนดเวลาอันสมควร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 1,000 บาท ถึง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
10. การอุทธรณ์การประเมิน
เมื่อผู้เสียภาษีได้รับแจ้งการประเมิน (ภป.3) แล้วเห็นว่าการประเมินนั้นไม่ถูกต้อง มีสิทธิ์อุทธรณ์การประเมินต่อผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้ได้รับมอบหมายโดยต้องยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน
ภาษีป้าย

ส่วนการคลังองค์การบริหารส่วนตำบลกมลาไสย
งานพัฒนารายได้
โทร. / Fax.0-4383-1411 ต่อ 14 |